วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การพัฒนาคุณภาพการพยาบาลกับการวิจัย

แนวคิดและความสำคัญของการวิจัยกับการพัฒนาคุณภาพการพยาบาล    
                พยาบาลในฐานะนักปฏิบัติที่จะต้องมุ่งเน้นการเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางการพยาบาลลงสู่การปฏิบัติ ท่ามกลางกระแสความกดดันจากการปฏิรูประบบ   สุขภาพ  การปฏิรูประบบราชการ  การประเมิน      คุณภาพ และการประกันคุณภาพ  ตลอดจนความสับสนที่เกิดขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านของการปฏิรูปดังกล่าว  เป็นกระแสหลักที่ส่งผลกระทบต่อวิชาชีพพยาบาลและการปฏิบัติการพยาบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านและการเปลี่ยนแปลงนี้  เป็นช่วงเวลาที่เอื้อโอกาสให้กับวิชาชีพพยาบาลในการพลิกฟื้นวิกฤตเป็นโอกาส ที่จะพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาลที่เป็นเลิศ (Best Practice)  โดยการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence Based)  ที่ได้จากงานวิจัยในการปฏิบัติการพยาบาล  เปลี่ยนมุมมองและทัศนคติที่มีต่อการวิจัยว่าเป็นเรื่องยุ่งยากและซับซ้อน  ก็ยังคงเป็นแค่เศษเสี้ยวของความยุ่งยาก ซับซ้อน  ในสมการคำตอบของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมที่อาจจะไม่ต้องการคำตอบ  แต่เป็นการทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ  และนำมาใช้เพื่อพัฒนาการบริการพยาบาลให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ
                ในการขับเคลื่อนการปฏิบัติการพยาบาลให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับนั้น  Walshc และ Ham    กล่าวว่า มีหลักสำคัญที่ควรคำนึงถึง 4 ประการ  ได้แก่  ประการแรก  การเปลี่ยนพื้นฐานการปฏิบัติการพยาบาลจากการใช้ความรู้สึกและความคิดเห็น หรือการคาดเดาเอาเอง มาเป็นการปฏิบัติการพยาบาลบนพื้นฐานความรู้เชิงประจักษ์ที่ใช้กระบวนการเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific Inquiry)  ประการที่สอง ได้แก่  การจัดการกับองค์ความรู้ (Managing Knowledge)  ที่เป็นระบบ  เหมาะสม และตอบสนองต่อความต้องการขององค์กร  ประการที่สาม ได้แก่  การมีระบบการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพและการยอมรับการดูแลสุขภาพที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการปฏิบัติการพยาบาล (Systems for change)  ส่วนประการสุดท้าย ได้แก่  การสร้างแรงจูงใจ (Incentives)  ให้เกิดการปฏิบัติการพยาบาลที่มีคุณภาพ
                นอกจากนี้ ภายใต้กระแสของการพัฒนา    คุณภาพบริการพยาบาลที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศนั้น คำว่า Evidence Based Practice  หรือการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ได้ถูกกล่าวถึงทั้งในวงการศึกษาทางการพยาบาลและในหมู่ผู้ปฏิบัติการพยาบาล  ซึ่งการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ทางการพยาบาลเพื่อการพัฒนา การบริการพยาบาลให้มีคุณภาพดีนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ได้รับความสนใจมากขึ้น  เหตุปัจจัยที่นำสู่การเกิดขึ้นของการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการพยาบาล  ได้แก่ ความกดดันของผู้ใช้และผู้ให้บริการทางสุขภาพ  จากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น  เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทันสมัย ในการตอบสนองต่อความต้องการในการใช้บริการทางสุขภาพของผู้ป่วยและความต้องการในการให้บริการทางสุขภาพของผู้ ดูแลสุขภาพ  ความตื่นตัวของผู้ใช้บริการทางสุขภาพต่อบริการรักษาพยาบาลที่ได้รับ  ตลอดจนข้อสงสัยในประสิทธิภาพของการรักษาพยาบาล  ความสามารถอย่างไร้พรมแดนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทาง     สุขภาพของประชาชน และผู้ให้บริการทางสุขภาพ  ฉันทามติทางการเมืองและนานาชาติในเรื่องของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง  การพัฒนาประสิทธิภาพของการบริการทาง   สุขภาพ  เป็นต้น (3)  
                ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนพื้นฐานการปฏิบัติการพยาบาล โดยใช้กระบวนการเชิงวิทยา-ศาสตร์ (Scientific Enquiry)  การจัดการกับองค์ความรู้ที่เป็นระบบ (Managing Knowledge)  ตามที่กล่าวถึงมาแล้ว  ตลอดจนการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence based practice)  ย่อมหลีกเลี่ยงการใช้ความรู้จากงานวิจัยไปไม่ได้  โดยเป้าหมายสุดท้ายของการวิจัยทางการพยาบาล เพื่อพัฒนาคุณภาพการพยาบาลในด้านต่าง ๆ นั้น คือ การนำผลการวิจัยไปใช้ ทั้งในการใช้ในรูปงานวิจัยเดี่ยว ๆ หรือกลุ่มของงานวิจัย
  Evidence-Based Practice : หนึ่งวิถี นำสู่การพัฒนาคุณภาพการพยาบาล  
 
                การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการปฏิบัติการพยาบาล (Evidence-based Practice หรือ EBP) มีความหมายในเชิงกระบวนการว่า การค้นหา  การประเมินและการประยุกต์ใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการให้การพยาบาล  การจัดการและการดูแล      สุขภาพ โดยมีเป้าหมายหลักในการช่วยให้ผู้ปฏิบัติการสามารถทำการตัดสินใจ (Decision making)  ในการเลือกให้การพยาบาลที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้บริการ  เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ  ประสิทธิผล  ความคุ้มทุน  และกำจัดหรือป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติการพยาบาลนั้น ๆ  (3,4)  

                กระบวนการใช้ EBP ทางการพยาบาลนั้น ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน  ดังนี้
                ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดประเด็นปัญหาทางคลินิกและการประเมินความจำเป็นในการปรับปรุงวิธีปฏิบัติเดิม
                ขั้นตอนที่ 2  การสืบค้นและรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
                ขั้นตอนที่ 3  การวิเคราะห์และสังเคราะห์หลักฐานที่ได้จากงานวิจัยเพื่อสร้างแนวทางการปฏิบัติการพยาบาล
                ขั้นตอนที่ 4  การสร้างและทดลองใช้ EBP เพื่อประเมินผล
                ขั้นตอนที่ 5  การนำ EBP ที่มีการปรับปรุงไปใช้ในการปฏิบัติในองค์กร

รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :   http://www.bnct.ac.th/it/news2.php?id=5

1 ความคิดเห็น:

  1. ขออนุญาตคุณ I am Nurse นำบทความนี้และบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไปใช้สอนวิชา สารสนเทศทางการพยาบาล ที่ผมรับผิดชอบช่วยสอน ที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ

    ตอบลบ