วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การพัฒนาคุณภาพการพยาบาลกับการวิจัย

แนวคิดและความสำคัญของการวิจัยกับการพัฒนาคุณภาพการพยาบาล    
                พยาบาลในฐานะนักปฏิบัติที่จะต้องมุ่งเน้นการเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางการพยาบาลลงสู่การปฏิบัติ ท่ามกลางกระแสความกดดันจากการปฏิรูประบบ   สุขภาพ  การปฏิรูประบบราชการ  การประเมิน      คุณภาพ และการประกันคุณภาพ  ตลอดจนความสับสนที่เกิดขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านของการปฏิรูปดังกล่าว  เป็นกระแสหลักที่ส่งผลกระทบต่อวิชาชีพพยาบาลและการปฏิบัติการพยาบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านและการเปลี่ยนแปลงนี้  เป็นช่วงเวลาที่เอื้อโอกาสให้กับวิชาชีพพยาบาลในการพลิกฟื้นวิกฤตเป็นโอกาส ที่จะพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาลที่เป็นเลิศ (Best Practice)  โดยการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence Based)  ที่ได้จากงานวิจัยในการปฏิบัติการพยาบาล  เปลี่ยนมุมมองและทัศนคติที่มีต่อการวิจัยว่าเป็นเรื่องยุ่งยากและซับซ้อน  ก็ยังคงเป็นแค่เศษเสี้ยวของความยุ่งยาก ซับซ้อน  ในสมการคำตอบของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมที่อาจจะไม่ต้องการคำตอบ  แต่เป็นการทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ  และนำมาใช้เพื่อพัฒนาการบริการพยาบาลให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ
                ในการขับเคลื่อนการปฏิบัติการพยาบาลให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับนั้น  Walshc และ Ham    กล่าวว่า มีหลักสำคัญที่ควรคำนึงถึง 4 ประการ  ได้แก่  ประการแรก  การเปลี่ยนพื้นฐานการปฏิบัติการพยาบาลจากการใช้ความรู้สึกและความคิดเห็น หรือการคาดเดาเอาเอง มาเป็นการปฏิบัติการพยาบาลบนพื้นฐานความรู้เชิงประจักษ์ที่ใช้กระบวนการเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific Inquiry)  ประการที่สอง ได้แก่  การจัดการกับองค์ความรู้ (Managing Knowledge)  ที่เป็นระบบ  เหมาะสม และตอบสนองต่อความต้องการขององค์กร  ประการที่สาม ได้แก่  การมีระบบการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพและการยอมรับการดูแลสุขภาพที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการปฏิบัติการพยาบาล (Systems for change)  ส่วนประการสุดท้าย ได้แก่  การสร้างแรงจูงใจ (Incentives)  ให้เกิดการปฏิบัติการพยาบาลที่มีคุณภาพ
                นอกจากนี้ ภายใต้กระแสของการพัฒนา    คุณภาพบริการพยาบาลที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศนั้น คำว่า Evidence Based Practice  หรือการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ได้ถูกกล่าวถึงทั้งในวงการศึกษาทางการพยาบาลและในหมู่ผู้ปฏิบัติการพยาบาล  ซึ่งการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ทางการพยาบาลเพื่อการพัฒนา การบริการพยาบาลให้มีคุณภาพดีนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ได้รับความสนใจมากขึ้น  เหตุปัจจัยที่นำสู่การเกิดขึ้นของการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการพยาบาล  ได้แก่ ความกดดันของผู้ใช้และผู้ให้บริการทางสุขภาพ  จากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น  เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทันสมัย ในการตอบสนองต่อความต้องการในการใช้บริการทางสุขภาพของผู้ป่วยและความต้องการในการให้บริการทางสุขภาพของผู้ ดูแลสุขภาพ  ความตื่นตัวของผู้ใช้บริการทางสุขภาพต่อบริการรักษาพยาบาลที่ได้รับ  ตลอดจนข้อสงสัยในประสิทธิภาพของการรักษาพยาบาล  ความสามารถอย่างไร้พรมแดนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทาง     สุขภาพของประชาชน และผู้ให้บริการทางสุขภาพ  ฉันทามติทางการเมืองและนานาชาติในเรื่องของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง  การพัฒนาประสิทธิภาพของการบริการทาง   สุขภาพ  เป็นต้น (3)  
                ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนพื้นฐานการปฏิบัติการพยาบาล โดยใช้กระบวนการเชิงวิทยา-ศาสตร์ (Scientific Enquiry)  การจัดการกับองค์ความรู้ที่เป็นระบบ (Managing Knowledge)  ตามที่กล่าวถึงมาแล้ว  ตลอดจนการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence based practice)  ย่อมหลีกเลี่ยงการใช้ความรู้จากงานวิจัยไปไม่ได้  โดยเป้าหมายสุดท้ายของการวิจัยทางการพยาบาล เพื่อพัฒนาคุณภาพการพยาบาลในด้านต่าง ๆ นั้น คือ การนำผลการวิจัยไปใช้ ทั้งในการใช้ในรูปงานวิจัยเดี่ยว ๆ หรือกลุ่มของงานวิจัย
  Evidence-Based Practice : หนึ่งวิถี นำสู่การพัฒนาคุณภาพการพยาบาล  
 
                การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการปฏิบัติการพยาบาล (Evidence-based Practice หรือ EBP) มีความหมายในเชิงกระบวนการว่า การค้นหา  การประเมินและการประยุกต์ใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการให้การพยาบาล  การจัดการและการดูแล      สุขภาพ โดยมีเป้าหมายหลักในการช่วยให้ผู้ปฏิบัติการสามารถทำการตัดสินใจ (Decision making)  ในการเลือกให้การพยาบาลที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้บริการ  เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ  ประสิทธิผล  ความคุ้มทุน  และกำจัดหรือป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติการพยาบาลนั้น ๆ  (3,4)  

                กระบวนการใช้ EBP ทางการพยาบาลนั้น ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน  ดังนี้
                ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดประเด็นปัญหาทางคลินิกและการประเมินความจำเป็นในการปรับปรุงวิธีปฏิบัติเดิม
                ขั้นตอนที่ 2  การสืบค้นและรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
                ขั้นตอนที่ 3  การวิเคราะห์และสังเคราะห์หลักฐานที่ได้จากงานวิจัยเพื่อสร้างแนวทางการปฏิบัติการพยาบาล
                ขั้นตอนที่ 4  การสร้างและทดลองใช้ EBP เพื่อประเมินผล
                ขั้นตอนที่ 5  การนำ EBP ที่มีการปรับปรุงไปใช้ในการปฏิบัติในองค์กร

รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :   http://www.bnct.ac.th/it/news2.php?id=5

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สารสนเทศกับการพัฒนาวิชาชีพการพยาบาลด้านงานวิจัย

             เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยพัฒนาองค์ความรู้ทางศาสตร์การพยาบาลด้วยการวิจัย ตั้งแต่การสืบค้นข้อมูล การทบทวนวรรณกรรม การจัดเก็บผลการสืบค้น การวิเคราะห์ข้อมูล การจัดพิมพ์รายงานและการนำเสนอหรือการเผยแพร่ผลการวิจัย พยาบาลจึงควรพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การใช้โปรแกรมที่เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการวิจัยเพื่อให้สามารถทำวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้นในวิชาชีพยาบาล

สารสนเทศกับการพัฒนาวิชาชีพการพยาบาลด้านการบริการการพยาบาล

               การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาการให้บริการมีหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลและบันทึกทางการพยาบาล (วงจันทร์ เพชรพิเชษฐเชียร,2540) มีประโยชน์คือ การทำให้พยาบาลมีเวลาการปฎิบัติการพยาบาลมากขึ้น ลดเวลาในการจัดการเอกสาร โดยเฉพาะการพัฒนาระบบสารสนเทศทางการพยาบาลให้เป็นข้อมูลมาตรฐาน ด้วยการใช้ภาษาสากลในการวินิจฉัย และสะท้อนกิจกรรมการพยาบาลที่ปฏิบัติแก่ผู้ป่วย โดยระบบการบันทึกข้อมูลควรมีลักษณะดังนี้ เช่น สามารถบันทึกข้อมูลได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์มีระบบสัญญาณเตือนเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องมือแพทย์อื่นๆ เช่น เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สามารถโอนถ่ายแฟ้มข้อมูลได้ในเวลารวดเร็ว หรือมีระบบผู้เชี่ยวชาญช่วยในการตัดสินใจวางแผนการพยาบาล ในกรณีที่ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรีบด่วน ทำให้คุณภาพการพยาบาลหรือการดูแลผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น                   นอกจากนี้ เทคโนโลยีสารสนเทศยังสามารถนำมาใช้ในการให้ข้อมูล ความรู้แก่ผู้มารับบริการโดยจัดทำเว็บสุขภาพเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยกลุ่มโรคต่างๆ เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ หรือการจัดทำเว็บให้คำแนะนำการปฎิบัติตัวแก่ผู้ป่วยก่อนผ่าตัด หรือหลังจำหน่ายผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มีเวลาพบแพทย์ในการตรวจเพียงไม่กี่นาทีผู้ป่วยอาจจำไม่ได้ว่า แพทย์หรือพยาบาลให้คำแนะนำอย่างไร การจัดทำเว็บสุขภาพต่างๆจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถจัดทำและให้ข้อมูลสุขภาพแก่ผู้รับบริการ (สุกัญญา ประจุศิลป และคณะ,2547) รวมทั้งการให้คำปรึกษาทางการแพทย์หรือให้คำแนะนำในการดูแลตนเองของพยาบาลผ่านทางไปรษณีย์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) (สุรพล ศรีบุญทรง,2543) เนื่องจากบุคลาการทางการแพทย์และทางการพยาบาลมีน้อย ถ้ามีช่องทางการสื่อสารทางไปรษณีย์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์มาให้บริการเป็นช่องทางเสริมทางสุขภาพ ก็สามารถคัดกรองผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือผู้ที่ไม่มีความจำเป็นต้องมาโรงพยาบาลออกจากแผนกผู้ป่วยนอก หรือนำมาใช้ในการติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องเสียเวลา แก้ปัญหาในความล่าช้าในการรอตรวจ การให้บริการให้คำปรึกษาทางไปรษณีย์หรือผ่านจดหมายทางอิเล็กทรอนิกส์มีข้อจำกัด เช่น ความล่าช้าในการรับส่งข้อมูล การใช้ภาษาที่คลุมเครือ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยวิตกกังวลเพิ่มขึ้น จึงควรมีกการระบุข้อตกลงล่วงหน้าว่า หากผู้ป่วยหรือผู้มารับบริการ มีข้อสงสัยให้ติดต่อกลับมยังแพทย์หรือพยาบาลผู้ให้ข้อมูลตลอดเวลา ดังนั้นการปรึกษาทางการแพทย์ผ่านทางไปรษณีย์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จึงควรเป็นช่องทางเสริม หลังจากที่แพทย์หรือพยาบาลได้พบผู้ป่วย พูดคุย ซักประวัติ หรือรับการตรวจร่างกายจากแพทย์แล้วเพื่อความปลอดภัย แก่ผู้ป่วยเป็นสำคัญ สำหรับข้อควรระวังที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การรักษาความลับข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย เนื่องจากการให้คำปรึกษาทางการแพทย์หรือให้คำแนะนำในการดูแลตนเองของพยาบาลผ่านทางไปรษณีย์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จะมีข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ ดังนั้นควรกำหนดมาตรการประเด็นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลให้ชัดเจน เช่นการกำหนดเป็นระเบียบว่าจะไม่โอนข้อมูลของผู้ป่วยไปยังบุคคลที่สามโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย และบุคลากรทุกคนที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความระมัดระวังในเรื่องดังกล่าวและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

เส้นทางการเป็นพยาบาล

คุณลักษณะที่ดีของระบบสารสนเทศในการบริหารการพยาบาล

ระบบสารสนเทศในการบริหารที่ดี
1.พึงระลึกว่าสารสนเทศมิใช่ข้อมูล จึงควรทำการเก็บรวบรวม  วิเคราะห์ข้อมูล และเสนอในลักษณะของสารสนเทศเพื่อสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในการบริหาร            
2. ความเกี่ยวพันของสารสนเทศ ( Relevance ) สารสนเทศที่จะรวบรวม ควรเป็นสารสนเทศที่เกี่ยวพันกัน หรือสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ที่นำไปใช้            
3. ความไวของสารสนเทศ ( Sensitive ) สารสนเทศที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหาร จะต้องมีความไว สามารถบ่งบอกหรือแสดงความหมายในสิ่งที่ต้องการทราบได้ถูกต้อง            
4. ความถูกต้องเที่ยงตรงของสารสนเทศ ( Unbias ) สารสนเทศที่ได้จากการเก็บรวบรวม การวิเคราะห์ และการนำเสนอ ควรถูกต้องและเที่ยงตรงต่อความเป็นจริง มิใช่เพียงเพื่อให้ผู้บริหารพึงพอใจ             5. ลักษณะเบ็ดเสร็จของสารสนเทศ หรือการนำเสนอสารสนเทศ ควรอยู่ในลักษณะที่รวบรวมสิ่งสำคัญๆ สามารถตรวจสอบหรือพิจารณาโดยผู้บริหารได้โดยง่ายหรือง่ายต่อความเข้าใจ            
6. เวลาที่เหมาะสมของสารสนเทศ  สารสนเทศที่ได้รับการเก็บรวบรวม  วิเคราะห์และจัดเตรียม  จะต้องทันเวลาในการที่จะต้องใช้งาน         
7. สารสนเทศเพื่อเน้นการดำเนินการ ( Action Oriented ) สารสนเทศควรจะได้รับการวิเคราะห์  ในลักษณะที่สนับสนุนกระบวนการบริหาร  การวินิจฉัยสั่งการหรือการดำเนินการต่างๆในอนาคต    
8. รูปแบบลักษณะเดียวกันของสารสนเทศ ( Uniformity ) สารสนเทศที่ดีควรจะมีลักษณะที่คล้ายคลึง มีรูปแบบเดียวกัน  สามารถเปรียบเทียบใช้สารสนเทศร่วมกันได้อย่างมีมาตรฐานเดียวกัน        
9. สารสนเทศเพื่อเป้าหมายการปฏิบัติการ ( Performance Target ) สารสนเทศควรได้รับการกำหนด  และเก็บรวบรวมโดยอาศัยวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้เป็นพื้นฐาน            
10. ความคุ้มค่าของสารสนเทศ ( Cost  Effectiveness ) ผลประโยชน์ที่ได้จากการรวบรวม การวิเคราะห์และการนำเสนอสารสนเทศควรมีมากกว่าต้นทุนที่ใช้
        

สารสนเทศกับการพัฒนาวิชาชีพการพยาบาลด้านการบริหารการพยาบาล

            นอกจากนี้ เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีในองค์กรสุขภาพยังนำมาใช้ในการพัฒนาความก้าวหน้าของบุคคลากรพยาบาลในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งต่างๆ ในวิชาชีพ (ศิริอร สินธุ,2539) เช่น ตำแหน่งผู้ชำนาญการพยาบาล ซึ่งหมายถึง ตำแหน่งที่ปฏิบัติจะต้องมีความชำนาญและประสบการณ์ในสาขาที่ปฏิบัติงาน ดังนั้น การที่พยาบาลระดับพื้นฐานจะพัฒนาความสามารถด้วยการเพิ่มพูนความรู้ในศาสตร์ทางการพยาบาล จากการค้นหาความรู้จากฐานข้อมูลต่างๆ นำมาเชื่อมโยงร่วมกับประสบการณ์การทำงานจะสามารถพัฒนาความรู้ มีข้อมูลในการตัดสินใจ และปฏิบัติการพยาบาลที่แม่นยำขึ้น สามารถปฏิบัติการพยาบาลได้ผลดีขึ้น ทำให้มีการพัฒนาขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ชำนาญการพยาบาลในระยะเวลาที่เร็วขึ้นด้วย
             การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารการพยาบาลเพื่อกำหนดนโยบาย วางแผนกลยุทธ์ โดยข้อมูลสารสนเทศในองค์กรนำมาใช้ในการตัดสินใจ เช่น จำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล อัตราการครองเตียง จำนวนบุคลากร งบประมาณ หรือการนำเทศโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการมอบหมายปฏิบัติงาน เช่น การจัดบุคลากรขึ้นปฏิบัติงานตามจำนวนหรือลักษณะความต้องการการพยาบาลในแต่ละหอผู้ป่วย การมอบหมายงานดูแลผู้ป่วย การมอบหมายการนิเทศแก่บุคลากรใหม่ การสื่อสารกับหอผู้ป่วยอื่น การประเมินผลการปฏิบัติ หรือการจัดทำรายงานสรุปต่างๆ จะเห็นได้ว่า ผู้บริหารทางการพยาบาลสามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้งานด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผน การจัดการบุคลากร การคัดเลือกและการธำรงรักษาบุคลากรกำหนดวิธีติดตามงาน ปรับปรุงงานเอกสาร ในการพัฒนาคุณภาพการดูแล กำหนดขอบเขตการปฏิบัติการของพยาบาลได้ชัดเจนขึ้น และยังสนับสนุนการดำเนินงานอื่นๆ ขององค์กรอีกด้วย

การศึกษาต่อในเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านต่างในศาสตร์ทางการพยาบาล


หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง มหาวิทยาลัยมหิดล
หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง เป็นหลักสูตรการศึกษาเพิ่มเติมสำหรับพยาบาลวิชาชีพ เพื่อเตรียมพยาบาลให้มีความรู้ความชำนาญในการพยาบาลเฉพาะทาง ซึ่งเป็นการส่งเสริมสมรรถภาพของพยาบาล อันจะช่วยทำให้บริการด้านสุขอนามัยมีประสิทธิภาพสูงขึ้น  ในปัจจุบันหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางมีหลายสาขา ดังนี้
  1. สาขาการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง
  2. สาขาการพยาบาลปริศัลยกรรม (การผ่าตัด)
  3. สาขาการจัดการการพยาบาล (การบริหารการพยาบาล)
  4. สาขาเวชปฏิบัติทั่วไป(การรักษาโรคเบื้องต้น)
  5. สาขาการพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อและการป้องกันการติดเชื้อ
  6. สาขาการพยาบาลผู้ป่วยเด็กโรคเรื้อรัง
  7. สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ
  8. สาขาการพยาบาลฟื้นฟูสภาพ
  9. สาขาการพยาบาลหัวใจและหลอดเลือด
  10. สาขาการพยาบาลผู้ป่วยเรื้อรัง
  11. สาขาการพยาบาลศัลยกรรมอุบัติเหตุ
  12. หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น สาขาศาสตร์และศิลปการสอนทางการพยาบาลhttp://www.ns.mahidol.ac.th/english/th/degrees_Special_th.html

วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

สารสนเทศทางการพยาบาลด้านการศึกษา

               เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นกลไกสำคัญที่ประเทศทั่วโลกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการบริหารจัดการงานด้านการศึกษา เช่น การลงทะเบียนผ่านระบบลงทะเบียนของสถานศึกษา การจัดทำประวัตินักศึกษาการติดตามผลการศึกษา รวมทั้งการประกันสุขภาพทางการศึกษาและนำมาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อช่วยศักยภาพการเรียนการสอนกระตุ้นความสนใจในการศึกษาและสร้างความเข้าใจให้ผู้เรียนได้มากยิ่งขึ้น
                การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการศึกษามีหลายประเภทได้แก่ การพัฒนาสื่อคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา ขณะนี้สถานบันการศึกษาพยาบาลหลายแห่งได้นำบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมาใช้ในการเรียนการสอนเป็นการนำเอาเนื้อหาบทเรียนมาจัดทำเป็นขั้นตอนโดยใช้เทคนิคสื่อผสมต่างๆ เพื่อให้การเรียนการสอนมาประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผู้พัฒนาศักยภาพและความรับผิดชอบการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยตนเองให้สามารถเลือกเรียนตามความสนใจ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจึงเป็นสื่อการสอนที่มีคุณภาพโดยเน้นหลักการเรียนรู้ของมนุษย์ช่วยผู้เรียนในการตัดสินใจแก้ปัญหา แต่การจัดทำบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องออกแบบบทเรียนให้มีความน่าสนใจตรงตามวัตถุประสงค์ เช่น กระตุ้นความสนใจ ชี้แนวทางการเรียนรู้ ให้ข้อมูลย้อนกลับ ซักถามปัญหาทบทวนความรู้เดิมให้เนื้อหาใหม่ รวมทั้งการทดสอบความรู้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถจดจำและนำไปใช้ได้รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนในห้องปฏิบัติการ การจำลองสถานการณ์ต่างๆให้แก่ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติ หรือฝึกทักษะร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆก่อนนำไปปฏิบัติ
                เทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญตั้งแต่การบริหารการศึกษา การจัดการเรียนการสอน การบริหารการวิจัย รวมทั้งคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามความสามารถและความสนใจของตนเอง ทำให้การเรียนเป็นไปอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดการเรียนผ่านระบบเครือข่ายคือ ด้านอาจารย์ผู้สอนต้องจัดเนื้อหาบทเรียน และกิจกรรมการเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่ายที่น่าสนใจ ท้าทาย ชวนให้ผู้เรียนติดตาม ด้านโปรแกรมที่ใช้จัดการบทเรียนต้องเป็นโปรแกรมที่สะดวกสำหรับผู้เรียนในการเข้าถึงบทเรียนและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ต้องมีเครื่องมือสนับสนุนการเรียนแก่ผู้เรียน เช่น กระดานข่าว ฯลฯ ต้องมีบุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีและมีความรู้เกี่ยวกับสื่อการสอน ช่วยอาจารย์ผู้สอนในการผลิตสื่อตลอดจนให้การแนะนำ วิธีการและขั้นตอนการนำเสนอบทเรียน และด้านการวินัยในตนเองของผู้เรียน ผู้เรียนต้องเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้น มีความรับผิดชอบการเข้าเรียนและทำกิจกรรมในบทเรียนตามที่ได้รับมอบหมาย ดังนั้น ปัจจัยด้านอาจารย์ผู้สอน ปัจจัยด้านการเรียนการสอน ปัจจัยด้านบุคลากรและสื่อการสอนที่ใช้ จะต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน จึงจะทำให้การศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด